การสร้างแบรนด์นั้นจำเป็นต้องอาศัยการเดินหน้าด้วยแนวทางที่ชัดเจนมีกลยุทธ์ไม่ทำอะไรตามใจตัวเราแต่เพียงอย่างเดียว และหลายๆครั้งเรามักออกนอกเส้นทางเพราะทำตามความเคยชิน ท่านต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งมาก ซึ่งผมบอกได้เลยครับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมพบบ่อยมากของผู้ประกอบการ ซึ่งในตอนนี้เอาหลักธรรมะที่นำมาใช้เป็นแนวทางในการสร้างแบรนด์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานในการทำทุกอย่างให้ประสบความสำเร็จ ผมเลยนำข้อคิดนี้ที่แสนเรียบง่ายและเกิดจากการเห็นแบบอย่างที่ดีจากหลักธรรมที่ว่าด้วยความเพียร ซึ่งมีอยู่ในอิทธิบาท 4 มาฝากเพื่อนร่วมประเทศที่ต้องการสร้างธุรกิจสร้างแบรนด์ให้เติบโต

การสร้างแบรนด์ ต้องมีความเพียรเป็นที่ตั้ง นี่คือความจริงแท้อย่างที่สุด เพราะความเพียรก็คือการที่เราต้องลงมือทำ ลงมือสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง เดินหน้าทุกวัน การสร้างแบรนด์ไม่ใช่แค่การทำสื่อโฆษณา หรือการออกแบบ แต่มันคือทั้งหมดของธุรกิจเรา และแบรนด์ที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ให้เราในระยะยาวนั้นต้องการกระทำที่ต่อเนื่องอดทน และมีความเพียรมากที่จะไม่ออกนอกเส้นทางที่ได้วางแผนเอาไว้
ความเพียร คือคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญของการเป็นเจ้าของแบรนด์และธุรกิจ ความเพียรนั้นทำให้เราเดินหน้า เราต้องหาแรงจูงใจในความเพียรให้เจออย่างไม่ลดละ ผมจำแนกแรงจูงใจของความเพียร ได้เป็น 3 แบบ

1. เพียรเพราะชอบ : คือ ”ความเพียรที่เกิดจากอารมณ์” การได้ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจและชอบ ซึ่งมักอิงอารมณ์ส่วนตัวเป็นหลัก ความเพียรลักษณะนี้อาจจะไม่นำมาซึ่งรายได้ที่มากพอ เพราะถ้าสิ่งที่เราชอบไม่สอดรับกับ Mega trend หรือ สิ่งๆนั้นมีคู่แข่งมากเกินไป เป็นต้น

2. เพียรเพราะใช่ : คือ “ ความเพียรที่เกิดจากวิสัยทัศน์ ” การประเมินว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันสอดรับกับ Mega trend หรือแนวโน้มการเติบโตของโลก แม้เป็นสิ่งที่เราอาจไม่ถนัด แต่เราเล็งเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับผู้คน และเป็นแนวโน้มความต้องการของโลก สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเดินหน้าอย่างมีกลยุทธ์ ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราชอบมากนักเราจึงต้องอาศัยความเพียรมากเป็นพิเศษ ตัวอย่างแบรนด์อย่าง หัวเหว่ย ที่ผู้ก่อตั้งก็ไม่ได้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมาก่อน แต่ด้วยความเพียรและมุ่งมั่นของเขาและทีมงาน จนวันนี้ทำให้แบรนด์ หัวเหว่ยกลายเป็นแบรนด์ระดับโลกที่สร้างความภูมิใจให้กับคนจีนไปทั่วโลก

3.เพียรเพราะทั้งชอบและใช่ คือ “ ความเพียรที่เกิดจากปัญญา ” ในข้อนี้ ก็คือการนำทั้งสองข้อมารวมกันนั่นเอง เรียกได้ว่าถ้าเจ้าของแบรนด์ใด ได้ทำในสิ่งที่ตนชอบและสนใจ บวกกับสิ่งนั้นกำลังเติบโต ไปได้ดีในตลาดก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด แต่ถึงกระนั้นก็ต้องมีการเดินหน้าอย่างมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน หลักสำคัญอย่างหนึ่งในการวัดว่าแบรนด์เรามีกลยุทธ์หรือไม่ คือ วัดจากการตอบคำถามว่า “ท่านรู้หรือไม่ว่าอะไรที่แบรนด์ท่านไม่ควรทำ”

อย่ามัวรอคอยความสำเร็จ อย่ามัวรอคอยว่าจะโชคดีเกิดกระแสมาหนุนแบรนด์เรา อย่ามัวรอคอยที่จะให้ภาครัฐมาช่วย เดินหน้าด้วยความเพียรค้นให้เจอว่าปัจจัยอะไรบ้างที่เรายังขาด แล้วใช้ความเพียรในการสร้างแบรนด์ที่จะเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ใช่แค่ของตัวท่านเอง แต่เพื่อคนในองค์กร จนกลายเป็นความภาคภูมิใจ ของคนในประเทศต่อไป