สร้างแบรนด์บนศรัทธา

หลังจากเพิ่งมีข่าวของอาลีบาบา ที่เข้ามาขยายธุรกิจบ้านเราแบบเต็มรูปแบบ ต้องบอกว่าอาลีบาบาก็เป็นธุรกิจเกิดใหม่ที่ใช้เวลาไม่นาน แต่ทำไมกลายเป็นแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ ข้อแตกต่างจากการที่เป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ กับแบรนด์ที่ยิ่งใหญ่ มีความต่างมาจาก อะไร ?

ข้อ 1 ) คุณเป็นผู้ประกอบการแบบไหน ?

1. แบบไม้ยืนต้น : ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้เติบใหญ่ มีคุณค่าให้ร่มเงาต่อสังคมรอบข้าง แข็งแรงและอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปี ต้องการสร้างผลลัพธ์สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
2. แบบไม้พุ่มเตี้ย : ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์ให้ตัวเองเติบโต มองตนเองเป็นหลัก ไม่ต้องใหญ่มาก แต่ไปได้เรื่อยๆ
3. แบบไม้ดอกไม้ประดับ : ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์ แบบตามกระแส ชอบตามคนอื่น ไม่ค่อยอดทนกับการรอคอย ต้องการเห็นผลลัพธ์เร็วๆ
4. แบบไม้กระถาง : ผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างแบรนด์ แต่ชอบเปลี่ยนบ่อยๆ เบื่อวิธีนี้ก็เปลี่ยน ถึงขั้นเบื่อธุรกิจก็เปลี่ยน

ข้อ 2 ) แล้วถ้าเลือกได้คุณอยากเป็นแบบไหน ?

ข้อ 3 ) อะไรที่ทำให้เกิดความแตกต่างของต้นไม้แต่ละประเภท ?

คำตอบก็คือ ความศรัทธา ในการดำเนินธุรกิจ แน่นอนครับผลลัพธ์ที่แบรนด์สง่างามแบบต้นไม้ใหญ่ยืนต้นตระหง่านย่อมเป็นสิ่งที่เราต้องการเสมอ แต่ทำไมหลายคนทำไปแล้วท้อ ทำไปแล้วเลิกกลางคัน ทำไปแล้วไม่สามารถสร้างทีมที่ดีได้ ครั้งหนึ่งแจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา ผู้ซึ่งเป็นนักธุรกิจแห่งยุคคนหนึ่งที่โลกต้องจารึก เคยโดนปรามาสว่า “คุณก็แค่เป็นคนที่เป็นคนที่โฆษณาชวนเชื่อเก่ง จริงไหม ?“
สิ่งที่แจ๊คหม่า ตอบก็คือ
“ผมไม่ใช่คนแบบนั้น แต่ผมเป็นคนที่ ศรัทธาแรงกล้า ผมมองเห็นอนาคตแล้วมุ่งมั่น แล้วก็บอกกล่าวต่อคนรอบข้าง นั่นเรียกว่าศรัทธาต่างหาก” คนฟังปรบมือกันสนั่นทีเดียว

การสร้างแบรนด์ให้เป็นสินทรัพย์นี้ เป็นเรื่องที่คุณต้องใช้พลังศรัทธา ความเชื่อของคุณ ทบทวนแล้วหาให้เจอแล้วนำเรื่องนั้นมาบอกกล่าว ไปเรื่อยๆ ลงมือทำ โดยไม่ลังเล นั่นแหละเป็นการขุดศักยภาพของคุณออกมาเพื่อสร้างแบรนด์ได้อย่างแท้จริง ดังที่เราเห็นกันว่ามีตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจมากมาย ที่มีแผนธุรกิจที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่พลังศรัทธาแรงกล้าจนเหนือกว่าคู่แข่งและฝ่าด่านเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภคได้เป็นผลสำเร็จ

การสร้างแบรนด์ หรือการสร้างธุรกิจ สิ่งที่ทุกคนต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหา แต่ใครที่มีศรัทธาที่แรงกล้าจะสามารถเปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญาได้ เพราะความท้อแท้เกิดขึ้นได้เสมอระหว่างทาง ลองถามตัวเราเองนะครับ ว่าเราเองเริ่มต้นทำธุรกิจนี้ สร้างแบรนด์นี้ จากเพียงแค่เห็นโอกาส หรือเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ
ถ้าคุณจะเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ จนคนทั่วประเทศทั่วโลกต้องลุกขึ้นปรบมือชื่นชม การสร้างแบรนด์ที่มากกว่าการขายสินค้า แต่เป็นแบรนด์ที่ส่งมอบคุณค่าให้กับคนหมู่มากยิ่งมากยิ่งดี
หลายคนพอฟังที่ผมพูดมาแล้วบางครั้งก็เกิดความกลัวขึ้นมาในใจว่า เราไม่ต้องยิ่งใหญ่มากก็ได้ เราอยากทำอะไรเล็กๆ ผมอยากบอกว่ามันคนละเรื่องกันคำว่า “ทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อผู้คนจำนวนมาก”

แนวคิดแห่งความศรัทธาในการสร้างธุรกิจ คือคุณศรัทธาสิ่งที่ทำว่าเป็นสิ่งที่ดีงามมากแค่ไหนต่างหาก แต่การจะทำเล็กหรือใหญ่เราเลือกได้ครับ

แบรนด์ที่เกิดขึ้นมาเพราะคุณอาจมองแค่เห็นโอกาสใหม่ๆ
คุณก็อาจเป็นเพียงนักเก็งกำไร แต่เมื่อโอกาสนั้นหมดไป ความมุ่งมั่นคุณก็หมดตามไปด้วยในทางกลับกันถ้าแบรนด์เรา ถูกก่อกำเนิดมาจากการเห็นคุณค่า พร้อมกับโอกาสใหม่ๆ เมื่อคุณเริ่มพบปัญหา และโอกาสนั้นเริ่มลดลงเราจะผ่านปัญหาไปได้ ด้วยแรงศรัทธาและเห็นว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์ต่อผู้อื่น

แบรนด์ที่มาจากโอกาสทางการตลาดเพียงอย่างเดียว กับแบรนด์ที่มาจากแรงบันดาลใจที่เปี่ยมด้วยศรัทธาของผู้ก่อตั้ง ถึงแม้สินค้าเหมือนกัน แต่ความสำเร็จแตกต่างกันอย่างแน่อน

ตัวอย่างหนึ่งที่น่ายกย่องมากๆ คือ อิวา คัมปราด ผู้ก่อตั้งแบรนด์ IKEA ที่ครั้งหนึ่งเคยเจอปัญหาที่ภาครัฐในสวีเดนออกกฎไม่ให้ Supplier ส่งสินค้าให้ IKEA เนื่องจากขายสินค้าในราคาถูกเกินไป และถูกเพื่อนร่วมวงการผลิตเฟอร์นิเจอร์รุมต่อต้าน แต่ด้วยพลังความศรัทธาต่อวิสัยทัศน์ของแบรนด์ที่ว่า IKEA จะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ชีวิตของคนให้ดีขึ้น ด้วยราคาที่ย่อมเยา กับการออกแบบที่เป็นเลิศ จึงทำให้ IKEA ไม่ยอมแพ้และหาทางแก้ไขสถานการณ์อันยากลำบากช่วงนั้นมาได้ และทำให้คนทั่วโลกยังสามารถซื้อสินค้าตกแต่งบ้านด้วยราคาที่ย่อมเยาตามเป้าหมายของตัวเองได้ต่อไปและดีกว่าเดิมอีกด้วย อย่าลืมว่า
ด้วยพลังศรัทธาอันแรงกล้าจะทำให้เราเป็นอย่างที่เราคิด

ลองถามตัวเอง ว่า คุณมีศรัทธากับสิ่งที่คุณทำแค่ไหน ? คุณเห็นภาพความสำเร็จ ? เห็นเสียงหัวเราะของทีมดังแค่ไหน ? คุณตะโกนสุดเสียงได้ถึงไหน ? นั่นแหละคือ เคล็ดที่ไม่ลับของแบรนด์ที่เป็นสินทรัพย์สำหรับคุณ