ใครว่า “ความยั่งยืน” ต้องเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม Movement ของ 3 แบรนด์ดังที่ต้องดูไว้เป็นแบบอย่าง

“ความยั่งยืน” กลายเป็นสิ่งที่ทุกแบรนด์และบริษัทต่างให้ความใส่ใจและเริ่มปรับธุรกิจให้เป็นไปแนวทางนั้น จริงอยู่ว่าสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่ถูกทำลายมาหลายศตวรรษ คือสิ่งที่ทุกวันนี้คนตระหนักและเริ่มให้ความสนใจเป็นหลัก ทว่าสิ่งสำคัญใน “ความยั่งยืน” ไม่ใช่มีเพียงแค่การรีไซเคิล หรือการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในวันนี้เราจึงพามาดูการเคลื่อนไหวของ 3 แบรนด์ดังที่ไม่ได้มีดีแค่ชื่อ แต่รวมไปถึงแนวคิดเพื่อโลก ซึ่งติดตามกันได้ในบทความนี้

3 แบรนด์ดัง กับความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน

1. H&M 

เชื่อว่าทุกคนทราบกันดีว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างขยะได้มากขนาดไหน เริ่มตั้งแต่การฝ้ายมาใช้เป็นวัสดุ น้ำในการกำจัดของเสีย หรือเศษเสื้อผ้าหลังการตกแต่ง ซึ่ง H&M หนึ่งในแบรนด์แฟชั่นระดับโลกก็เห็นถึงผลผลิตเหลือทิ้งเหล่านี้ที่สร้างผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ในปี 2013 แบรนด์จึงได้ตั้งโครงการ “Let’s Close the Gap” เพื่อรวบรวมเสื้อผ้าที่ลูกค้าทิ้งแล้วมาจัดหมวดหมู่ ถ้าเสื้อผ้ายังอยู่ในสภาพดีอยู่แบรนด์ก็จะนำกลับมาซ่อมแซมพร้อมหาเจ้าของใหม่ แต่หากว่าสภาพเกินกว่าจะไปต่อไหว H&M ก็จะนำไปรีไซเคิล เพื่อนำวัสดุนั้นกลับมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเสื้อหรือกางเกงตัวใหม่นั่นเอง

โดยล่าสุด H&M จับมือร่วมกับกลุ่มบริษัทรีไซเคิลเรมอนดิส (Remondis) ของเยอรมัน ตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อ Looper Textile เพื่อรวบรวม คัดแยก เสื้อผ้าและสิ่งทอต่างๆ ที่ใช้แล้วแต่ไม่เป็นที่ต้องการและนำไปจัดขายอีกด้วย โดย H&M ตั้งเป้าขยายวงจรชีวิตของเสื้อผ้าให้เพิ่มขึ้น 40 ล้านชิ้นในปี 2023 โดยมี Looper Textile เป็นบริษัทจัดทำวัตถุดิบตั้งต้น รวมถึงหวังให้ Looper เป็นผู้ให้บริการจัดทำวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับบริษัทที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการรีไซเคิลด้วยเช่นกัน 

2. Gusto

ความยั่งยืนไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ความเป็นอยู่ในสังคมก็เป็นส่วนที่ต้องการความยั่งยืนด้วย โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้ ซึ่งหนึ่งในความเหลื่อมล้ำนั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ไม่ว่าจะค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันแม้จะอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน อัตราความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเพศชายที่มากกว่าเพศหญิง รวมไปถึงการกีดกันเพศหญิงจากอาชีพที่ใช้วิชาชีพขั้นสูงด้วยเช่นกัน

ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกันกับ Gusto บริษัทซอฟต์แวร์ที่ให้บริการคลาวด์ (Cloud) ด้านการจ่าย Payroll ที่ทีมหลักของบริษัทอย่างทีมวิศวกรมีสัดส่วนเพศหญิงเกิน 5% ไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนกระทั่งเกิดการเรียกร้องให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลลดความไม่เท่าเทียมทางเพศลง หลังจากวิศกรหญิงคนหนึ่งไม่ถูกยอมรับแนวคิดที่เสนอเนื่องจากเธอเป็น “วิศวกรหญิง” 

ซึ่ง Gusto ก็ได้เร่ิมมีการเปิดรับสมัครและจัดหาทีมงานที่เป็นวิศวกรหญิงมากขึ้น โดยสุดท้ายแล้วสัดส่วนของทีมวิศวกรหญิงเพิ่มขึ้นมาถึง 20% นอกจากนี้ Gusto ยังตั้งเป้าที่จะจ้างบุคคลสูงอายุ และผู้คนอีกหลายเชื้อชาติเข้าบริษัทให้มากขึ้น เนื่องจาก Gusto เล็งเห็นว่า “ความหลากหลายเป็นจุดแข็งหลักที่จะทำให้บริษัทสามารถเขียนซอฟต์แวร์ และสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้นได้กว่าเดิม” นั่นเอง 

3. HSBC

เบื้องหลังของทุกธุรกิจต่างก็ต้องใช้เงินทุนทั้งสิ้น ทำให้ผู้นำในวงการธนาคารอย่าง HSBC เริ่มปรับใช้แนวทางปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้นโดยภายในสิ้นปี 2025 ธนาคารจะมุ่งลงทุนกว่า 1 แสนล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ในโครงการเพื่อความยั่งยืน รวมถึงได้มีการเพิ่มกรอบประเมินความเสี่ยงด้าน ESG เพื่อรับรองการขอเงินทุนของบริษัทเข้ามาด้วย นอกเหนือจากส่วนของการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจแล้ว บริษัทก็ได้มีการปรับเปลี่ยนในส่วนการปฏิบัติการโดยมุ่งเป้าใช้พลังงานไฟฟ้าภายในบริษัทให้กลายเป็นหมุนเวียนให้ได้ 100% ภายในปี 2030 ซึ่งท้ายที่สุดทำให้ในปี 2022 ที่ผ่านมา HSBC ได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ AAA จากองค์กรจัดทำดัชนีชั้นนำระดับโลกอย่าง MSCI ไปครอง 

สรุป : ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำ

ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้อย่างที่เข้าใจ แต่มันเกี่ยวข้องทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินงานที่เหมาะสม (Environmental-Social-Governance: ESG) ซึ่งเป็นแนวทางความยั่งยืนที่บริษัทและแบรนด์ระดับโลกต่างให้ความสำคัญ ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้นั้นจึงไม่ใช่แค่ช้คำพูดสวยหรู แต่คือการที่นำไปปฏิบัติจริง เป็นการกระทำที่ไม่ใช่เพราะภาพลักษณ์ แต่ก็เพื่อโลกของเราทุกคนที่จะต้องดีขึ้นต่อไปนับจากนี้