เผยกลยุทธ์ทรานส์ฟอร์ม RS Group จากธุรกิจ Entertainment สู่เบอร์ต้นของธุรกิจ E-commerce

ในช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ หลายธุรกิจก็ได้ทรานส์ฟอร์มองค์กรเพื่อจะได้ก้าวตามให้ทันต่อโลกมากขึ้น ซึ่งกรณีจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยองค์กรหนึ่งนั่นก็คือ “RS Group” ที่เปลี่ยนจากธุรกิจเพลงก้าวสู่เบอร์ต้นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จนปัจจุบันมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการทรานส์ฟอร์มที่พลิกโฉม RS แบบเดิมที่เรารู้จักในนามค่ายเพลง สื่อมีเดียต่างๆ ไปสู่อีกธุรกิจหนึ่งได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

เรียกได้ว่า RS นั้นก้าวข้ามผ่านความท้าทายมาตลอดทุกช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยเลยก็ว่าได้ โดยหากจะเล่าถึงที่มาของ RS นั้นต้องเริ่มจากธุรกิจตู้เพลงในสมัยก่อนที่ได้เข้าสู่ธุรกิจค่ายเพลง “โรสซาวด์” (Rose Sound) ที่มีเป้าหมายในการบริษัทบันเทิงอย่างครบวงจรและขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น ซึ่งก็ได้พบกับความท้าทายแรกนั่นคือ การเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวดูแลส่วนต่างๆของธุรกิจสู่การเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเป็น “มหาชน” หลังจากเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์สำเร็จจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่เรารู้จักในปัจจุบัน

ถึงแม้ธุรกิจค่ายเพลงหลังเข้าตลาดจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด แต่ก็เจอกับความท้าทายครั้งสำคัญจากการถูก Disrupt ของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น MP3 ,iPod รวมถึงสตรีมมิ่ง ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญทำให้ RS มองเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเกิดปัญหาครั้งใหญ่ เลยเร่งปรับตัวโดยการขายโรงงานผลิตซีดีทิ้งและเปลี่ยนเพลงมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลแทน แต่ก็ต้องพบกับปัญหาขาดทุนในช่วงเริ่มต้น 3 – 4 ปีเลยทีเดียว

ต่อมาในยุคความเฟื่องฟูของทีวีแอนาล็อก เม็ดเงินมหาศาลจากโฆษณาทำให้ RS ก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีด้วยการเข้าประมูลทีวีดิจิทัล “ช่อง 8” เพื่อหวังแย่งส่วนแบ่งตลาดจากเจ้าตลาดอย่างช่อง 3 และช่อง 7 เพียงแต่จากจำนวนช่องที่เพิ่มขึ้นแต่จำนวนคนดูและโฆษณาที่เท่าเดิม ทำให้เกิดวิกฤติขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน ส่งผลให้ RS ต้องเร่งปรับตัวอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการมองหาเทรนด์ธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตนั่นคือ ธุรกิจสุขภาพและความงาม จึงได้มีการผลิตสินค้าออกมาขายที่มีช่องทางการจำหน่ายด้วยระยะเวลาโฆษณาที่เหลือ 50% ของช่อง 8 เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และนี่จึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ RS สู่ New S-curve สร้างการเติบโตมิติใหม่จากธุรกิจสื่อบันเทิงสู่โมเดลใหม่อย่าง “Entertainmerce” ในที่สุด

กลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มสู่ RS Group

ด้วยความท้าทายจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค Digital ธุรกิจเดิมของ RS เลยต้องปรับตัวด้วยการเปลี่ยนธุรกิจเพลงโดยการเปลี่ยนตั้งแต่วิสัยทัศน์ พันธกิจสู่การเป็นธุรกิจ “Entertainmerce” ที่เป็นการผสมระหว่างธุรกิจ Entertain กับธุรกิจ E-commerce เข้าด้วยกัน ดึงให้ลูกค้าเก่าจากผู้ชมและผู้ฟังเดิมมาเป็นลูกค้าในธุรกิจใหม่ผ่านช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์โดยมีเป้าหมายคือ Life Enriching ที่ยกระดับในทุกมิติการใช้ชีวิตของลูกค้าทุกคนด้วยการเข้าใจ Insight ผ่านการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยองค์กรสู่การเป็น Data-Driven Company ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับซัพพลายเออร์ และพาร์ทเนอร์เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และต่อยอดธุรกิจสู่ตลาดอื่นด้วยเช่นกัน

ซึ่งความตั้งใจในวิสัยทัศน์ และการขับเคลื่อนด้วยความสร้างสรรค์ที่สะท้อนออกมาผ่านโลโก้ “RS Group” ที่ใช้เส้นสายที่เรียบง่าย ไร้สี ไร้เงา ทว่าโดดเด่นและรับรู้ถึงองค์กรได้ทันที ทั้งยังทันสมัยสามารถนำมาปรับใช้ในรูปแบบต่างๆ ก็สะท้อนถึงความยืดหยุ่น และปรับตัวอยู่เสมอสอดคล้องกับโลกธุรกิจปัจจุบันที่จะต้องไม่กลัวต่อความท้าทายต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ RS Group ถือไว้ดั่งคติประจำองค์กรเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกแล้ว ภายในของ RS Group ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับบนเท่านั้น ทว่าบุคลากรทุกคนในองค์กรต่างต้องรับรู้ถึงการทรานส์ฟอร์มและก้าวไปข้างหน้าด้วยจุดหมายเดียวกันด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็สร้างองค์กรที่เปิดรับคนใหม่ๆ ด้วยสวัสดิการที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถซึ่ง RS Group เชื่อว่าเป็นตัวต่อสำคัญในการพัฒนาองค์กรไปข้างหน้า 

ความสำเร็จ

ในปีพ.ศ. 2565 อาร์เอสมีรายได้รวมจากการให้บริการและขายสินค้าอยู่ที่ 3,572 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้แบ่ง 3 ธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) 63% มีรายได้ 2,263 ล้านบาท ธุรกิจสื่อ 30% มีรายได้ 1,078 ล้านบาท ธุรกิจเพลงและอื่นๆ 7% มีรายได้ 230 ล้านบาท ถึงแม้ว่ามีรายได้ที่ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แต่จะเห็นได้ว่าธุรกิจคอมเมิร์ชก็ยังเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญของ RS Group อย่างไม่ต้องสงสัย

นอกเหนือจากการปรับโครงสร้างสู่เป้าการเป็น “Life Enriching” ที่จะยกระดับทุกมิติการใช้ชีวิตแล้ว RS Group ยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ทว่าได้ตั้งเป้าที่จะดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซให้เติบโตขึ้นด้วยช่องทางและพาร์ทเนอร์ใหม่ๆ สู่ Mass Market อย่างเต็มตัวและกลับมาให้ความสำคัญกับธุรกิจเพลงอีกครั้งทั้งศิลปินเก่า และเน้นสร้างศิลปินใหม่ ขณะเดียวกันก็ปั้น RS Pet All ตอบโจทย์เทรนด์สัตว์เลี้ยงที่กำลังมาแรง รวมถึงธุรกิจในตลาดใหม่ๆ อีกมากมายซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมให้โมเดล “Entertainmerce” แข็งแกร่งมากขึ้นสู่เป้าหมายรายได้ 5,500 ล้านบาทในปีพ.ศ. 2566 นี้ และดันให้มูลค่าตลาดขององค์กรสูงเป็น 1 แสนล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้านั่นเอง

สรุป : ความสำเร็จของ RS Group

การเปลี่ยนสู่โลกดิจิทัลที่เป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้องค์กรต้องเปลี่ยนแปลง RS ที่ได้เปลี่ยนจากธุรกิจเพลงทรานส์ฟอร์มสู่ตลาดใหม่อย่าง E-commerce ด้วยกลยุทธ์การเปลี่ยนวิสัยทัศน์และพันธกิจสู่เป้าหมายการยกระดับทุกมิติการใช้ชีวิต และการใช้เทคโนโลยีเพื่อดัน RS สู่ทรัพย์สินดิจิทัลพร้อมกับใช้ในการรับรู้และตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านโลโก้และโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไป ด้วยกลยุทธ์ที่วางแผนมาหลายปีของ RS Group นี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งในองค์กรประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มและเป็นที่พูดถึงจนถึงตอนนี้

………………………………………….

ขอขอบคุณแหล่งที่มา:

https://www.brandbuffet.in.th/2021/10/case-study-of-rs-group-the-business-transformation-model/ 

https://medium.com/sfiacorporation/digital-transformation-rs-group-the-game-changer-25c055b0c1a1 

https://marketeeronline.co/archives/143940 

https://www.rs.co.th/th/ 

https://www.salika.co/2022/03/09/entertainmerce-model-rs-group-2022/ 

https://themodernist.in.th/rs-2021/ 

#RSGroup #BrandTransformation #Branding #Baramizi #BaramiziOutlookDaily