Brand Valuation is created by Brand Value สร้างมูลค่าแบรนด์ ต้องสร้างคุณค่าแบรนด์ 

สร้างมูลค่าแบรนด์ ต้องสร้างคุณค่าแบรนด์ 

เรื่องที่จะยกตัวอย่างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ที่การสร้างคุณค่าของแบรนด์ที่เป็นพันธุ์เมล่อน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างชนิดที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ เมล่อนพันธุ์นี้ชื่อ ยูบาริ  ก่อนที่ท่านจะอ่านต่อไปลองทายดูนะครับ ว่า

“ท่านให้ราคาเมล่อนที่คิดว่าแพงที่สุดในใจไว้เท่าไร?”

 

ผมเฉลยนะครับ เมล่อนยูบารินี้ถูกประมูลในตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่เมืองซัปโปโร ซึ่งถือเป็นช่วงเปิดฤดูกาลโดย เจ้าเมล่อน ยูบาริ คู่แรกนี้ถูกประมูลไปที่ราคา 932,000 บาท (3.2 ล้านเยน) ท่านลองหลับตานึกดูนะครับ ว่าเราต้องขายข้าวประเทศเราจำนวนเท่าไรถึงเท่ากับราคาของเมล่อนยูบาริคู่นี้  ซึ่งก่อนจะไปพูดถึงว่าเหตุอันใดเมล่อนยูบารินี้ถึงสามารถขายได้ในราคาที่สูงมากขนาดนี้ ก็ต้องย้อนมาดูวิธีการขายของสินค้าเกษตรบ้านเราเสียก่อน 

สินค้าเกษตรก็สร้างคุณค่าแบรนด์ได้
สินค้าเกษตรบ้านเราแท้จริงแล้วมีข้อดีมากมาย ทั้งลักษณะพิเศษของสายพันธุ์ และ อัตลักษณ์ทางกายภาพของท้องถิ่นนั้นๆ ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปสร้างคุณค่าให้เกิดเรื่องราวในการทำการตลาดได้อย่างดีมากอีกด้วย แต่ด้วยภาครัฐและตัวเกษตรกรหรือค่านิยมในการทำสินค้าเกษตรคือเน้นแต่ปริมาณผลผลิต พอมีอะไรที่รัฐส่งเสริม จนเป็นที่นิยมก็แห่กันไปปลูกจนล้นตลาด และรัฐก็ชอบเข้าไปแก้ที่ปลายเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคา, การจำนำก็ตามก็เป็นสิ่งที่ควรทำแค่ชั่วคราว แต่รัฐควรให้ความรู้ และจัดทำระบบให้เกิดทั้งออนลไน์และออฟไลน์ ไปสร้างกลไกให้เกิดการตลาดเชิงคุณค่าหรือการเจาะไปยังตลาดเฉพาะที่สามารถขายสินค้าได้ราคาที่มีมูลค่าเพิ่ม 

ถ้าเราไม่รีบแก้ที่ต้นเหตุ โดยหาตลาดโลกที่เหมาะกับเราและสร้างจุดยืนที่ชัดเจนในตลาดโลก เราจะถูกคลื่นสิค้าเกษตรจากจีนเข้ามากลืนตลาดสินค้าเกษตรในบ้านเราซึ่งตอนนี้กินตลาดไปแล้วกว่าร้อยละห้าสิบ ที่เราทานๆ กันอยู่สินค้าจากจีนทั้งนั้นครับ 

คุณค่าแบรนด์สร้างได้อย่างไร?
จากที่กล่าวตัวอย่างเมล่อน ยูบาริไปข้างต้นแล้วนั้น เรามาสรุปกันนะครับว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ เมล่อนนี้ประสบความสำเร็จคืออะไร?
1.สร้างกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการขายใคร? ซึ่งในที่นี้เขาเน้นกลุ่มโรงแรม หรือ บุคคลชั้นนำที่ต้องการของที่ดีมีคุณค่าทางจิตใจ
2.การสร้างคุณค่าแบรนด์ผ่านการเล่าเรื่อง ตั้งแต่

  • เป็นเมล่อนที่ให้คุณค่าด้านเป็นตัวแทนของสังคม โดยเชื่อกันว่าเมล่อนเป็นการแสดงสถานะทางสังคมของผู้ให้เลยทีเดียวครับ ชนิดที่ว่าใครได้ไปคุณค่าที่คุณได้รับมากกว่าความอร่อยแต่คือ คนที่มีระดับ ทางสังคม 
  • เป็นเมล่อนที่มีผิวเรียบเสมอกัน
  • เป็นเมล่อนที่ต้องเก็บเกี่ยวและปลูกในช่วงๆ นั้นของฤดูกาล และต้องดินที่นี่ สภาพอากาสแบบนี้เท่านั้นถึงจะได้เมล่อนที่รสชาติดี

3. กลไกลการตลาดที่สร้างระบบนิเวศน์ในการซื้อ-ขายสินค้าเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ภาคธุรกิจและผู้คนแห่กันมาทั่วโลก โดยเฉพาะตอนจัดกิจกรรมการเปิดประมูลซึ่งทำให้เกิดกลไกการสร้างราคาที่มีการเพิ่มมูลค่าที่สูงมาก  

กล่าวโดยสรุปนะครับ การที่เราจะสร้างแบรนด์ให้มีมูลค่าต้องเริ่มจากการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเข้าใจความต้องการของเขาและสร้างคุณค่าหรือจุดขายที่มากกว่าแค่ราคาถูกหรือคุณภาพดีเพียงอย่างเดียว กรณีเมล่อนยูบาริ คนไม่ได้ซื้อที่คุณภาพและรสชาตแต่เพียงอย่างเดียวแต่คนซื้อที่คุณค่าทางจิตใจ คือ 

– ซื้อเพราะเป็นสถานะทางสังคม
– ซื้อเพราะได้ของแท้ต้นตำรับ จากแหล่งปลูกนั้นๆ โดยตรง
– ซื้อเพราะคุณลักษณะพิเศษของตัวเมล่อนเอง 

ในบทความที่ผมเขียนและสรุปมานั้น ท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้เลย แล้วถามตัวเองสั้นๆ ว่า อะไรคือจุดขายของแบรนด์ท่านที่เป็นเชิงคุณค่าทางจิตใจ เพราะถ้าตอบได้ถึงจะทำให้ความหวังการสร้างแบรนด์ยุคใหม่ถูกเปิดออกแล้วนั่นเอง