รวม 5 ดัชนียั่งยืนที่นักธุรกิจต้องรู้ สู่ Green Economy

ความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้นและถูกกำหนดในวาระการประชุมในระดับโลกมาโดยตลอด ทุกประเทศจึงต่างให้ความสำคัญและนำไปปรับใช้ผ่านนโยบายระดับชาติ ซึ่งรวมถึงส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้งหลายต่างจำเป็นต้องปรับตัวให้ตรงตามบริบทของประเทศและโลกผ่านการลงทุนด้านต่าง ๆ ของบริษัทด้วยเช่นกัน และเพื่อให้การดำเนินการการลงทุนของธุรกิจในด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์แล้วนั้น หลายองค์กรที่เกี่ยวข้องด้านธุรกิจและการลงทุนจึงได้มีการจัดตั้งดัชนีความยั่งยืนขึ้นมาเพื่อเป็นเกณฑ์ให้กับธุรกิจ โดยความสำคัญและเหตุผลที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใส่ใจนั้นจะถูกกล่าวต่อไปจากนี้

ดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainable index) คืออะไร?

ดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืน (Sustainable index) คือ ดัชนีที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทได้มีการลงทุนและดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ควบคู่ไปกับการการบริหารงานอย่างมีบรรษัทภิบาล (Environmental-Social-Governance: ESG) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร 

ดัชนี้ชี้วัดด้านความยั่งยืนสำคัญขนาดไหน? 

ดัชนีชี้วัดนี้นอกจากจะใช้เพื่อดูว่าธุรกิจให้ความสำคัญและลงทุนเพื่อความยั่งยืนแล้ว ดัชนีนี้นั้นยังนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการประเมินมูลค่าธุรกิจ ซึ่งนักลงทุนยังนำดัชนีนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจลงทุนซึ่งจะสะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอีกด้วย 

โดยในช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ. 2565 พบว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนให้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก ซึ่งนั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนเม็ดเงินที่จะไหลเข้าบริษัทเรานั้นจะมากหรือน้อย และทำให้บริษัทของเราเติบโตไปได้ไกลเท่าไหร่นั้นคงพอจะเป็นตัววัดความสำคัญของดัชนีนี้ได้ชัดเจนมากขึ้น นอกเหนือไปจากความรับผิดชอบที่เรานั้นมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจควรมี ดังที่กล่าวไปในตอนต้นแล้ว 

และเนื่องด้วยการขยายตัวของมูลค่าการลงทุนของบริษัทในด้าน ESG เติบโตอย่างมากจากเดิมที่ 6 ล้านล้านดอลลาห์สหรัฐกลายเป็น 65 ดอลลาห์สหรัฐทำให้ตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงองค์กรจัดทำดัชนีเริ่มมีการพัฒนาดัชนีชี้วัดความยั่งยืน (Sustainable index) นี้ขึ้นมา ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แม้จะยังไม่ได้พัฒนาดัชนีวัดความยั่งยืนขึ้น แต่องค์กรก็ได้มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (THSI) ขึ้นเพื่อให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญแบบ ESG

รวม 5 ดัชนียั่งยืนที่นักธุรกิจต้องรู้

  1. ESG Index

          จัดทำโดยสถาบันไทยพัฒน์ โดยเป็นผู้จัดทำข้อมูลบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้าน ESG 100 อันดับ (กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100) ซึ่งมีการจัดทำดัชนีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 ซึ่งในปีพ.ศ. 2565 นี้ หน่วยงานด้าน ESG ของสถาบันได้จัดทำรายชื่อหลักทรัพย์จดทะเบียนที่น่าลงทุนในกลุ่ม ESG Emerging ออกมาแล้วจากการคัดเลือกมากกว่า 800 บริษัทและกองทุน

  2. Dow Jones Sustainability Indices (DJSI)

          จัดทำโดย RobecoSAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนร่วมกับ S&P DowJones ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2542 ซึ่งถือเป็นดัชนีที่คัดเลือกหุ้นยั่งยืนระดับโลกจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกที่โดดเด่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนเป็นหลัก โดยมีเกณฑ์ประเมิน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งดัชนี DJSI นี้ไม่เพียงเป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปเท่านั้น ทว่าได้รับการยอมรับในระดับสากลจากนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งหลายบริษัทในประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมในการประเมินมาแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555

  3. MSCI ESG Index

          จัดทำโดย MSCI องค์กรจัดทำดัชนีชั้นนำ โดยเป็นดัชนีที่บริษัทไทยเป็นสมาชิกมีชื่อว่า MSCI AC ASEAN ESG Leaders และ MSCI AC ASEAN ESG Universal โดยองค์กรได้มีการจัดทำดัชนีขึ้นในปีพ.ศ. 2533 โดยมีเกณฑ์การประเมินบริษัท ได้แก่ การดำเนินงานด้าน ESG การประเมินผลกระทบเชิงลบของบริษัท และการพิจารณาประเภทธุรกิจ

  4. FTSE4Good Index

          จัดทำโดย FTSERussell ซึ่งมีการจัดตั้งดัชนีขึ้นในปีพ.ศ. 2543 โดยดัชนีที่บริษัทไทยเป็นสมาชิกมีชื่อว่า FTSE4Good ASEAN 5 Index และ FTSE4Good Emerging Indexes โดยมีเกณฑ์ในการประเมินบริษัทด้วย ESG อย่างการดำเนินการด้านจัดการสิ่งแวดล้อมของบริษัท การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน มาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน การกำกับดูแลกิจการ และการต่อต้านการทุจริต โดยที่บริษัทนั้นไม่เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าประเภท ยาสูบอาวุธหรือส่วนประกอบอาวุธ และถ่านหิน

  5. STOXX Global ESG Leaders indices

          จัดทำโดย STOXX โดยมีการจัดตั้งดัชนีขึ้นในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งการจัดทำดัชนีนี้จะเลือกจากบริษัทที่อยู่ภายใต้ STOXXGlobal 1800 Index และตัดบริษัทในกลุ่มต้องห้ามออกจากการประเมินโดยผ่านกระบวนการวิจัยและวิเคราะห์จากข้อมูลของบริษัท ตัวอย่างดัชนีเช่น STOXX Asia/Pacific ESGLeader 50 Index และ Euro STOXX Sustainability Index